คำถามโลกแตก GMAT อ่านเองได้ หรือต้องเรียนติว คงเป็นคำถามที่หลายคนที่กำลังวางแผนเรียนต่อ MBA เมืองนอก เพื่อนเราหลายคนไม่ต้องเรียนเสริมอะไร อ่านเองแถมใช้เวลาไม่นาน แต่พวกนั้นเป็นคนส่วนมากหรือส่วนน้อยล่ะ แถมเพื่อนๆเรากลุ่มนั้นคือคนที่เรียนเก่งมากด้วย จบด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 และ ติด 1 ใน 5 ของรุ่นเป็นต้น ส่วนเรา…นักศึกษากลางๆ อยู่ตรงค่าเฉลี่ยของคนจบการศึกษาในรุ่นนั้นๆ แถมพื้นฐานเลขก็อ่อนมาก เพราะจบศิลป์ภาษามา เพราะฉะนั้นถ้าถามคำถามนี้กับเรา เรายืนยัน นอนยัน นั่งยัน และ แนะนำว่า “GMAT ควรเรียนติว” ค่ะ เพื่อไม่ให้เสียเวลางมทางมากเกินไป ยิ่งโตขึ้นเวลายิ่งมีค่า สู้ใช้เงินซื้อประสบการณ์ในแบบย่อ และ ถูกถ่ายทอดมาอย่างเป็นระบบเลยจะดีกว่า มันคุ้มค่ามากว่าการแลกเวลาไปกับการลองผิดลองถูกนานๆค่ะ
หลังจากเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเราได้ทำข้อสอบ Pre-test ของสถาบันที่เราเรียนไปแล้ว เราก็รู้สึกได้เลยว่า ต้องทำงานหนักเลยแหละ ภาษาอังกฤษที่ไม่ได้ใช้เลยหลังจากเรียนจบ รวมถึงเลขด้วย ใช้แค่บวกลบคูณหารทั่วไปในสายงานธุรกิจ บอกเลยว่าตอนนี้เหมือนเริ่มต้นใหม่ แต่เราก็ไม่ท้อ เพราะเราเชื่อว่าลงแรงลงความพยายาม ด้วยตรรกะดีๆ และ มีคนนำทาง ย่อมไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ค่ะ
วันนี้เราเริ่มเรียน GMAT ที่ Kaplan เป็นวันแรก ตามคำแนะนำของเพื่อน ตอนแรกก็ลังเลว่ายังไงดีนะ แต่พอได้เรียนคาบแรกของวันนี้ก็รู้สึกพอใจกับเงินที่จ่ายไปค่ะ วันแรกเรียนเรื่อง Reading ก่อน ในคาบเรียนมีการแนะนำเทคนิคที่เด็กสมองกลางๆอย่างเราควรรู้ ยกตัวอย่างเช่น
เมื่อเจอ Passage ควรแบ่งออกเป็น 3 ส่วน
โดยอ่านส่วน intro และ conclusion โดยเนื้อหาที่ใช้เวลาในการอ่านมากๆ เว้นไว้ก่อน ตอนเจอคำถามค่อยกลับย้อนอ่าน เพราะ GMAT นอกเหนือจากเรื่องความถูกต้องแล้ว เราจำเป็นต้องบริหารเวลาด้วย บางข้อที่ใช้เวลาในการหาคำตอบมาก เราก็จำเป็นต้องบริหารเวลาโดยการสุ่มคำตอบไปเลยเช่นกัน
คำถามในแต่ละบทความจะมี 2-5 ข้อ โดยสิ่งที่เราจะต้องมองหาตลอดเวลานั่นก็คือ 3 อย่างนี้
1. Main Concern คำถามข้อนี้ควรจะทำให้ถูกทุกข้อที่เจอ แต่ถ้าใครที่ข้อก่อนๆทำถูกมาอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะไม่ได้เจอกับคำถามลักษณะนี้ก็เป็นไปได้ เพราะคำถามนี้ง่ายเกินไป
2. รายละเอียด ส่วนนี้ก็คือส่วนที่ใช้เวลาอ่านมาก แต่จำนวนคำถามอาจจะไม่มาก ลองพิจารณาโจทย์ว่า จะต้องใช้เวลาในการอ่านมากมั๊ย ถ้ามากก็เลือกที่จะสุ่มคำตอบไปได้ เพื่อประโยชน์ในแง่การบริหารเวลา เพราะสำหรับ GMAT เองการจะทำให้ถูกทุกข้อเป็นเรื่องยากมาก แต่การบริหารเวลาเพื่อให้ตอบได้ครบทุกข้อ และ ไม่ผิดติดต่อกันจนนำพาคะแนนให้ดึงลงในตอนท้ายก็เป็นเรื่องที่ต้องทำให้ได้เช่นกัน
3. การสรุปเป็นนัย ต้องเป็นเรื่องที่สามารถบอกได้ว่าจริงหรือไม่จริง จากข้อมูล ส่วนมากเวลาเราอ่านเราก็จะแอบมีความคิดเห็นส่วนตัวโผล่ขึ้นมา ซึ่งในตัวเลือกก็จะมีหลอกในลักษณะนี้อยู่เหมือนกัน สำหรับใครที่คาดหวังผลคะแนนสอบให้ได้ 600 ขึ้นไปจำเป็นต้องตอบคำถามลักษณะนี้ให้ถูกให้ได้มากที่สุดค่ะ
Keyword ที่ต้อง Skim ให้เจอเพื่อเป็นการประหยัดเวลาในการอ่านมีอยู่ 3 กลุ่มหลักๆคือ
1. บอก conclusion เช่น thus, so, hence, therefore, consequently, in summary, clearly, obviously, apparently เป็นต้น
2. บอกเหตุผล support เช่น as, because, since, for, for instance, owing to, due to เป็นต้น
3. แนว contrast เช่น but, although, even though, however เป็นต้น
การแบ่งเวลาในการทำข้อสอบ
สำหรับ GMAT ที่สอบหลัง 16 เม.ย. 2018 เป็นต้นมา ในส่วนของ Verbal จะมีทั้งหมด 36 ข้อ ใช้เวลา 65 นาที ให้แบ่งเป็น 2 ส่วน
- 10 ข้อแรกใช้เวลา 25-30 นาที โดยตั้งใจทำให้ถูกทุกข้อ
- เราจะเหลือเวลาอีก 35 นาทีโดยประมาณ โดยส่วนนี้ให้เราทำถูกประมาณ 9 ข้อ เราก็จะได้คะแนนเกิน 550 แล้ว แต่มีข้อแม้ว่า ทำผิดได้ แต่ห้ามทำผิดเกิน 2 ข้อติดต่อกัน เพราะจะฉุดคะแนนเราลงเยอะเกินไป เราสามารถจะทำถูก 1 ข้อ แล้วผิด 2 ข้อ แบบนี้สลับไปได้ คะแนนเราจะพอไหว
เรียน GMAT ที่ Kaplan ดีมั๊ย
คำตอบสำหรับเราคือ “ดี” บอกไว้ก่อนว่าไม่ได้หน้าม้า เราก็จ่ายเงินเรียนปกติเหมือนคนอื่นแหละค่ะ แต่หลังจากถามเพื่อน แล้วก็ประเมินตัวเอง สำหรับเราในฐานะคนสมองกลางๆ การเรียน GMAT ช่วยได้มากค่ะ